เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ส่งตนไปสู่เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่งผัสสายตนะ 6...
อุปาทานขันธ์ 5 ... ส่งตนไปสู่เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง
มหาภูตรูป 4
ส่งตนไปว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา" รวมความว่า อบรมตนอยู่
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ รวม
ความว่า ภิกษุอบรมตนอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร
[197] (พระสารีบุตรเถระทูลถามว่า)
ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น

ว่าด้วยการสมาทานสิกขา 3
คำว่า ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร อธิบายว่า ภิกษุนั้นถือเอา สมาทาน
คือ ยึดถือ รับเอา ถือ ยึดมั่น ถือมั่นสิกขาอะไร รวมความว่า ภิกษุนั้นพึง
สมาทานสิกขาอะไร
คำว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติ ได้แก่ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจ
ไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ
คำว่า มีปัญญารักษาตน ได้แก่ มีปัญญารักษาตน คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :577 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
2. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
3. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
4. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า มีสติ
พระสารีบุตรเถระทูลถามถึงอธิสีลสิกขาว่า ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
ทูลถามถึงอธิจิตตสิกขาว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ทูลถามถึงอธิปัญญาสิกขาว่า
มีปัญญารักษาตน ทูลถามถึงความบริสุทธิ์แห่งสติว่า ผู้มีสติ รวมความว่า ภิกษุนั้น
พึงสมาทานสิกขาอะไร จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปัญญารักษาตน มีสติ

ว่าด้วยการกำจัดมลทิน
คำว่า กำจัดมลทินของตนได้ เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น
อธิบายว่า คนทำทอง ตรัสเรียกว่า ช่างทอง ทองคำ ตรัสเรียกว่า ทอง ช่างทอง
ย่อมเป่า ไล่ กำจัดมลทินทองทั้งหยาบ ปานกลาง และละเอียด ฉันใด ภิกษุย่อมเป่า
ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสทั้งหยาบ
ปานกลาง และละเอียด ฉันนั้นเหมือนกัน
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ซึ่งทำให้เป็น
คนตาบอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ อันดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่ง
ความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ด้วยสัมมาทิฏฐิ
ย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
มิจฉาสังกัปปะ ด้วยสัมมาสังกัปปะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :578 }